11/2/52

บทความสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน

สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว : สื่อนี้เพื่อใคร?
เพื่อการเรียนรู้ให้เกิดผลในเชิงโครงสร้าง พัฒนาสู่การปฏิบัติการจริงในสังคม
เป็นที่ยอมรับกันในระดับประเทศ และระดับนานาชาติมานานกว่าทศวรรษ ว่าสื่อมีอิทธิพลอย่างสูง ต่อการสร้างทัศนคติ อัตลักษณ์ และคุณลักษณะต่างๆ ของผู้รับสื่อ แต่สัดส่วนเนื้อหา และรูปแบบรายการที่นำเสนอผ่านสื่อ มีมิติที่ไม่อาจส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้รับสื่อไปสู่คุณลักษณะในเชิงบวกนั้นสูงมาก ปัญหาใหญ่หลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ทั้งปัญหาการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปัญหาสุขภาวะของเด็กและเยาวชน รวมทั้งความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำ ล้วนแต่ถูกจุดประกายมาจากสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อมเกือบทั้งสิ้น จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ทำให้ เด็ก เยาวชน ครอบครัว นักวิชาการ และภาคนโยบายรัฐ เข้าเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริงในสังคม
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2586 ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการดึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อร่วมกัน “สร้าง” พื้นที่สื่อที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ก่อให้เกิดความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ มีกิจกรรมเกิดขึ้นหลากหลาย เพื่อแสวงหาองค์ความรู้ในด้านของการจัดสื่อเพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งยังเกิดกิจกรรมที่สร้างความเข้าใจในเรื่องสื่อให้แก่ภาคผู้ผลิต และภาคประชาสังคมขึ้นอีกด้วย
และในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้เกิด “ สื่อสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ” ขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย คือ
1. การส่งเสริมให้เกิดมาตรการ การจัดความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ( Rating )
2.การผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวของการเรื่องของสื่อ ทั้ง ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย, ร่างพระราชบัญญัติแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ , ร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ , ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม , ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา
3.การผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อ
4.การสร้างหลักสูตร “สื่อมวลชนศึกษา” ให้เกิดขึ้นทั้งในระบบการศึกษา และนอกระบบการศึกษาแม้รัฐบาลชุดนี้จะประกาศงานวาระด้านเด็กและเยาวชน โดยมี วาระของ “ สื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ” ร่วมอยู่ด้วย และก่อให้เกิดผลเปลี่ยนแปลงชัดเจน ทั้งเรื่องของการจัดความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ การควบคุมโฆษณาขนมเด็กและแอลกอฮอล์ และเกิดสถานีวิทยุต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน และครอบครัวแล้ว แต่ก็ยังมีภารกิจอีกหลายด้าน ที่ยังต้องติดต่อและผลักดันให้เกิดผลในเชิงโครงสร้าง และมีการพัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริงในสังคมอีก สามเรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน นั่นคือ
1. การผลักดันร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวของกับสื่อทั้งระบบ
ในขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสื่อหลายฉบับที่เมื่อมีการประกาศใช้แล้วจะก่อให้เกิด “ พื้นที่สื่อ ” ที่เอื้อต่อการพัฒนาผู้รับชม เนื่องจากจะเกิดการจัดการสื่อที่มีความเหมาะสมหลากหลาย เข้าถึงกับพลเมืองทุกกลุ่มในสังคม โดยมีแกนหลัก คือ ร่างพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย , ร่างพระราชบัญญัติแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ และ ร่างพระราชบัญญัติเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพราะเมื่อเกิด พื้นที่ หรือ ช่องทางที่เป็นสาธารณะแล้ว จะเป็นหลักประกันได้อย่างยิ่งว่าพลเมืองทุกกลุ่มในสังคมจะได้รับบริการข้อมูล ข่าวสาร และความรู้ต่างๆ ที่มีความเหมาะสม รอบด้าน หลากหลาย และเข้าถึงง่าย โดยขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติต่างๆ บางฉบับก็ได้รับการพิจารณาแล้วในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า ร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ จะสามารถผ่านการพิจารณาและประกาศใช้ได้หรือไม่
2. การจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯสำหรับการจัดตั้งกองทุนสื่อสร้างสรรค์ฯ มีความพยายามที่จะผลักดัน ให้จัดตั้งขึ้น เนื่องจากต้องการให้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์สื่อ ทั้งในมิติของการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อย เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์เนื้อหารายการได้ในกรณีที่มีทุนไม่เพียงพอ มิติของการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับสื่อในด้านต่างๆ เพื่อให้ความรู้ต่อสังคมและเป็นข้อมูลเพื่อการพัฒนารายการ มิติของการสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสื่อ สู่เด็ก เยาวชน โรงเรียน และภาคประชาสังคม และมิติสุดท้าย คือมิติของการสร้างการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และครอบครัวในพื้นที่สื่อ เพื่อเป็นกลไกในการเฝ้าระวังเนื้อหารายหารที่ไม่เหมาะสม และเป็นฐานข้อมูลสำคัญจากด้านผู้รับชมในการพัฒนาเนื้อหารายการที่เหมาะสมต่อไป แม้ว่าจะมีการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องจากภาคผู้ผลิตและภาคประชาชน แต่ตอนนี้การจัดตั้งกองทุนฯ ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
3. การนำหลักสูตร “สื่อมวลชนศึกษา” ไปใช้ทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา
หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษานี้มีนักวิชาการทางด้านสื่อสารมวลชนได้พัฒนาหลักสูตรที่สามารถ
นำไปทั้งในระบบการศึกษาภายในโรงเรียน และการศึกษาภายนอกโรงเรียน มีความพยายามผลักดันผ่านกระทรวงศึกษาธิการมาหลายปี แต่หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษานี้ยังไม่ถูกนำไปใช้ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน หากจะมองให้ลึกลงไป ภายใต้หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษานี้ จะสร้างองค์ความรู้ให้ผู้เรียน มีความรู้ความเข้าใจ และเท่าทันสื่อ ทำให้เกิดการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ และสังเคราะห์สื่อได้ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่สุด ที่จะสร้างเด็ก และเยาวชน ให้มีภูมิคุ้มกันทางความคิด และสามารถรับสื่อได้อย่างมีวิจารณญาณ เป็นการแก้ปัญหาในเรื่องของผลกระทบจากสื่อต่อเด็กได้ต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมที่สุด แต่อาจจะเห็นผลทางสังคมช้า เพราะการให้การศึกษาและพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา
ทางเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัวเห็นตรงกันที่จะเสนอแนวทางในการสร้างสื่อสร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว เพื่อสร้างกลไกในการสนับสนุนให้นโยบายสื่อสร้างสรรค์ เป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ผลจริงและยั่งยืนไว้ทั้งหมด 3 คือ
1. รัฐควรใช้สื่อของรัฐเองทั้งสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ คือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และ สถานีโทรทัศน์ TITV ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ในกำกับของรัฐ เป็นสถานีโทรทัศน์ต้นแบบที่นำเสนอรายการสร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งอาจจะใช้กลไกของ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับสื่อในฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนผ่านในเชิงโครงสร้าง สู่การเป็นสถานีที่มีเนื้อหาสร้างสรรค์ เหมาะสมกับพลเมืองทุกวัย ทุกกลุ่มในสังคม
2. รัฐควรสนับสนุนให้เกิดช่องทางการเผยแพร่รายการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว รวมทั้งผลักดันให้มีการกำหนดช่วงเวลาของผังรายการโทรทัศน์และการความคุมความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ อย่างชัดเจน
3. รัฐควรและผลักดันให้เกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ เพื่อเด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งกองทุนสื่อสร้างสรรค์มี ๔ ภารกิจสำคัญคือ
1. สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งนี้ โดยการจัดตั้งสถานีขึ้นใหม่ หรือ การพัฒนาสถานีของรัฐที่มีอยู่ให้เป็นสถานีโทรทัศน์สำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัวโดยเฉพาะ
2. สนับสนุนให้เกิดการผลิตสื่อสร้างสรรค์ให้มีจำนวนมากขึ้น และมีคุณภาพมากขึ้น
3. สนับสนุนให้เกิดการศึกษาวิจัยและพัฒนาสื่อ ในรูปของสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้เกิดข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนาอันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการผลิตสื่อสร้างสรรค์ นอกจากนั้นแล้ว กองทุนสื่อสร้างสรรค์ ยังต้องเป็นหน่วยฝึกอบรมให้กับผู้ผลิตทั้งรายเก่า และรายใหม่เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อความรู้ทางการวิจัย การผลิต ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง
4. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ทั้งในระดับการเฝ้าระวังสื่อ ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการติดตามเฝ้าดูสื่ออย่างใกล้ชิดและระดับของการผลิตสื่อ เพื่อทำให้รายการโทรทัศน์เกิดความหลากหลาย และ การให้เด็ก เยาวชนและครอบครัวในแต่ละพื้นที่มีโอกาสในการผลิตสื่อจะทำให้เกิดสื่อที่ตรงกับความต้องการของชุมชนแต่ละชุมชนได้เป็นอย่างดี ซึ่งนับว่ากองทุนฯ เป็นตัวเชื่อมสำคัญสำหรับส่งเสริมกลไก
4. รัฐบาลควรผลักดันให้เกิด “หลักสูตรสื่อมวลชนศึกษา” ทั้งในและนอกสถานศึกษา เพื่อให้เด็ก เยาวชนสามารถในการวิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์ สังเคราะห์ รวมทั้งประเมินค่าสื่อที่รับชม มีความสามารถในการเข้าถึงสื่อที่เป็นประโยชน์ พัฒนาตนเองเป็นผู้สื่อสาร ที่สามารถใช้สื่อชนิดต่าง ๆ เพื่อการสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นฐานจากการศึกษากระบวนการแบบมีส่วนร่วม
ที่มา : ข้อมูลจาก : แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน

ไม่มีความคิดเห็น: